เครือข่ายการศึกษาทางเลือกได้พยายามขับเคลื่อนการศึกษาทางเลือกในประเทศไทยมากว่า 40 ปี ด้วยการขับเคลื่อนงานภาคประชาสังคมในการใช้สิทธิเลือกบริหารจัดการศึกษาที่ให้ความสำคัญต่อทรัพยากรพื้นฐานและสภาพความเป็นอัตลักษณ์ของวิถีชีวิตของผู้คนในแต่ละบริบทชุมชน ท้องถิ่น โดยมีหลักการส่งเสริมสนับสนุนศักยภาพผู้เรียนที่หลากหลายให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีบนการเคารพความแตกต่างและเติบโตเป็นพลังสร้างสรรค์ที่เข้มแข็งของสังคมไทย เครือข่ายการศึกษาทางเลือกได้เข้าร่วมขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษาร่วมกันในนามภาคีเครือข่ายอย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550
ปี พ.ศ. 2553 เครือข่ายการศึกษาทางเลือก รวมตัวกันจัดตั้งองค์กรเป็น “สภาการศึกษาทางเลือก” ประกอบด้วยเครือข่ายผู้จัดการศึกษาทางเลือก 7 เครือข่าย ได้แก่ (1) เครือข่ายโรงเรียนไทยไท (2) เครือข่ายการศึกษาทางเลือกภาคเหนือ (3) เครือข่ายการศึกษาทางเลือกภาคอีสาน (4) เครือข่ายการศึกษาทางเลือกภาคกลาง (5) เครือข่ายการศึกษาทางเลือกภาคใต้ (6) เครือข่ายการศึกษาชนเผ่า (7) เครือข่ายบ้านเรียน จึงเป็นจุดเริ่มต้นเริ่มต้นของการขับเคลื่อนภาคีเครือข่ายผู้จัดการศึกษาทางเลือกร่วมกันอย่างมีพลัง และมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้การปฏิรูปการศึกษารอบสองมีผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น อาทิ การจัดทำงานวิจัยเรื่องข้อเสนอหลักเกณฑ์และวิธีการปรับใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 สำหรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา เพื่อให้การศึกษาขั้นพื้นฐานมีทางเลือกในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาได้อย่างเป็นอิสระบนหลักการ เป้าหมาย และแนวทางของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 และ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และฉบับที่แก้ไข (ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2545) และ (ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2553) รองรับการจัดการศึกษาในรูปแบบที่หลากหลายโดยมุ่งเน้นการพัฒนาผู้เรียนที่มีความแตกต่างได้พัฒนาการเรียนรู้เต็มตามศักยภาพอันเป็นผลทำให้เกิดคุณภาพที่สัมพันธ์กับเป้าหมายในการเลือกศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา หรือการประกอบอาชีพตามศักยภาพความถนัดและความสนใจอย่างมีศักดิ์ศรี มีการนำเสนอต่อผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจนกระทั่งมีการเชิญผู้แทนของสมาคมฯเข้าร่วมร่างหลักเกณฑ์และวิธีการปรับใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 สำหรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ โดยมีการประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2554 นอกจากนี้มีการรวมกลุ่มภาคีเครือข่ายเพื่อศึกษาวิจัยพัฒนาเรื่องเกณฑ์ในการประเมินคุณภาพภายนอกสำหรับกลุ่มการศึกษาทางเลือก รวมทั้งการผลักดันการทำงานของภาครัฐให้ตระหนักถึงบทบาทการส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาทางเลือก สมาคมฯมีความพร้อมในการดำเนินการปฏิรูปการศึกษาร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงการศึกษาในสังคมไทยให้ดีขึ้น ได้จดทะเบียนเป็น สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย(สกล.) เมื่อปี พ.ศ. 2554
เมื่อกระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ส่งผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับภาคีเครือข่ายการศึกษาในชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ สมาคมฯจึงร่วมกับเครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็ก 4 ภูมิภาค ทำงานวิจัยเพื่อเสนอแนวทางการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กให้เป็นโรงเรียนของชุมชนแทนนโยบายยุบโรงเรียน ทำให้เครือข่ายการศึกษาทางเลือกมีภาคีทางการศึกษาเพิ่มเติมลำดับที่ (8) คือ เครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งต่อมาได้จัดตั้งเป็น สมาคมโรงเรียนชุมชน(โรงเรียนขนาดเล็ก)แห่งประเทศไทย และ สภาการศึกษาเพื่อปวงชน
สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทยได้รับเชิญในฐานะภาคีเครือข่ายการศึกษาให้มีส่วนร่วมขับเคลื่อนการปฏิรูปศึกษากับสำนักงานปฏิรูปการศึกษา(สปร.) มาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2554-2556 สมาคมฯ เล็งเห็นความสำคัญในการปฏิรูปการศึกษาที่ควรให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชน จึงมีการเชื่อมโยงกลุ่มเด็กและเยาวชนร่วมเป็นอีกหนึ่งเครือข่ายเพื่อให้การพัฒนาการศึกษาตอบโจทย์ในการให้ความสำคัญต่อผู้เรียนอย่างแท้จริง สมาคมฯจึงเพิ่มสมาชิกเครือข่ายข่ายเด็กและเยาวชนการศึกษาทางเลือกเป็นเครือข่ายข่ายที่ 9 และด้วยกระบวนการขับเคลื่อนของสมาคมฯ อย่างต่อเนื่องดังกล่าว ภายหลังจากการจัดเวที 9 ปฏิรูป โดยการเชื่อมร้อยเครือข่ายปฏิบัติงานของผู้เกี่ยวข้องทางการศึกษาทั่วประเทศอีก 9 เครือข่าย ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะ (สสส.) ในปี พ.ศ. 2557 ที่ผ่านมา ส่งผลให้สมาชิกองค์กรเครือข่ายการศึกษาทางเลือกเพิ่มขึ้นอีก 2 เครือข่าย คือ (10) เครือข่ายนวัตกรรมการเรียนรู้นอกระบบ และ (11) เครือข่ายอุดมศึกษาทางเลือก ดังนั้นปัจจุบัน มีองค์กรเครือข่ายสมาชิกของสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทยรวมกันทั้งสิ้น จำนวน 11 เครือข่าย ซึ่งทุกเครือข่ายมีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการขับเคลื่อนสมัชชาเครือข่ายปฏิรูปการศึกษาเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ภารกิจสำคัญเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา
ห้วงสถานการณ์ 10 ปี ภายใต้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 ที่กฎหมายการศึกษาให้สิทธิ แก่บุคคล ครอบครัว องค์กรชุมชนและองค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถานประกอบการ สถาบันศาสนา จากการขับเคลื่อนของกรรมการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทยในนามผู้แทนภาคส่วนต่าง ๆ ได้ร่วมผลักดันให้กระทรวงศึกษาธิการออกกฎกระทรวงตามมาตรา12 ดังกล่าว ได้ครบทั้ง 6 กฎกระทรวงเป็นที่เรียบร้อยแล้วได้แก่
- กฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว พ.ศ. 2547
- กฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิของสถานประกอบการในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2547
- กฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยสถาบันพระพุทธศาสนา พ.ศ. 2548
- กฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิของบุคคลในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียน พ.ศ. 2554
- กฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิขององค์กรวิชาชีพในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียน พ.ศ. 2554
- กฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิขององค์กรเอกชนในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียน พ.ศ. 2555
ในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานรูปแบบ “ศูนย์การเรียน” โดยมีกฎกระทรวงและแนวปฏิบัติออกมารองรับครบทั้ง 6 กฎกระทรวง แต่สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทยพบอุปสรรคข้อติดขัดในทางปฏิบัติของภาครัฐตลอดมาที่ไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษาโดยครอบครัว (บ้านเรียน/Home School) จึงไม่มีการพัฒนาระบบงานที่มีประสิทธิภาพถึงแม้กฎกระทรวงจะออกมานานก่อนกฎกระทรวงอื่น ๆ ถึง 12 ปี แล้วก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นับแต่ปี 2556 ที่มีการยื่นขออนุญาตจัดการศึกษาตามกฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิของบุคคล องค์กรชุมชน/องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ ก็ยังไม่มีระเบียบการปฏิบัติงานตามหลักเกณฑ์และวิธีการปรับใช้หลักสูตรแกนกลางฯ การวัดและประเมินผล รวมทั้งระบบการสนับสนุนสิทธิประโยชน์ โดยเฉพาะเงินอุดหนุนยังมีอุปสรรคปัญหามากมาย เช่นเดียวกับการจัดการศึกษาแบบบ้านเรียน (Home School) ปัญหาการสนับสนุนและบริการจากภาครัฐจึงอยู่ในสภาวการณ์ที่ไม่สอดคล้องเหมาะสมกับแนวทางการศึกษาทางเลือกอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นผลทำให้เครือข่ายผู้จัดการศึกษามาตรา 12 ยังไม่ได้รับความเป็นธรรมในการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาโดยสมบูรณ์
โดยสาเหตุของปัญหา นอกจากข้อบกพร่องไม่สมบูรณ์ของกฎกระทรวง ตลอดจนถึง กฎ ระเบียบ คำสั่ง ประกาศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายการศึกษาและการศึกษาทางเลือก ที่ยังไม่ชัดเจนสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติแล้ว ความไม่เข้าใจในแนวทาง/ความคิด/เป้าหมายการจัดการศึกษาทางเลือกของเจ้าหน้าที่สำนักเขตพื้นที่การศึกษาระดับท้องถิ่น/จังหวัดก็เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการศึกษาทางเลือกให้เติบโตและเข้มแข็งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาเด็ก/เยาวชนที่ทำให้เกิดโอกาสน้อยในการเลือกการศึกษาที่ต้องการและเหมาะสม ส่งผลกระทบไปถึงกระบวนทัศน์ของภาคประชาชนกันเองในกลุ่มผู้ที่ไม่เข้าใจการศึกษาทางเลือกเพื่อนำไปเป็นแนวทางในการการปฏิรูปตนเอง รวมทั้งยังไม่มีการรวบรวมระบบบริหารจัดการองค์ความรู้ต้นแบบการศึกษาที่กระจัดกระจายในกลุ่มที่เริ่มต้นลงมือปฏิรูปการศึกษาด้วยการทำทันทีไปแล้ว ตลอดจนถึงการบริหารจัดการศึกษาของภาครัฐที่ดำเนินมา ยังส่งผลกระทบต่อโอกาสทางการศึกษาของเด็กยากไร้/ด้อยโอกาสและเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษากระแสหลักที่ปัจจุบันมีแนวโน้มของปัญหาเพิ่มสูงมากขึ้นเรื่อยๆด้วย โดยนัยสัมพันธ์ดังกล่าว ทำให้เกิดความต้องการจัดการศึกษาภาคประชาชนที่เริ่มขยายจำนวนมากขึ้น ซึ่งโดยภาคส่วนบ้านเรียนที่ดำเนินเรื่อยมานับแต่มีมาตรา 12 ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และมีกฎกระทรวงการจัดการศึกษาโดยครอบครัวรองรับตั้งแต่พ.ศ. 2547 มานั้น มีผู้สนใจจัดการศึกษาสูงขึ้นในทุกภูมิภาค สกล. จึงเห็นความจำเป็นในการขยายศักยภาพการทำงานระดับเครือข่ายบ้านเรียนด้วยการสร้างองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับแนวทางการจัดศึกษาทางเลือกอย่างเป็นระบบ เพื่อให้การจัดการศึกษาทางเลือกทั้งภาคครอบครัวและชุมชน สามารถร่วมพลังกันขยายงานปฏิรูปการศึกษาของภาคีเครือข่ายบ้านเรียนส่วนกลาง ระดับจังหวัด ระดับภูมิภาค การเชื่อมร้อยสัมพันธ์กันด้วยหลักการ แนวทาง และจุดหมาย ตามกฎหมายการศึกษาของชาติ เพื่อรองรับการขยายโอกาสและคุณภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น รวมทั้งรองรับการยกระดับการรวมตัวของเครือข่ายร่วมกันจัดการศึกษารูปแบบศูนย์การเรียนระดับจังหวัด โดยไปช่วยเสริมการขับเคลื่อนความเข้มแข็งภาคปฏิบัติการให้กับศูนย์การเรียน มาตรา 12 ทั้ง 4 ภูมิภาค ซึ่งตั้งแต่มีแนวปฏิบัติในปี พ.ศ.2554 เป็นต้นมาภาคประชาชนโดยบุคคล องค์กรชุมชน/องค์กรเอกชน และองค์กรวิชาชีพ เริ่มทยอยกันให้ความสนใจใช้แนวทางการศึกษาทางเลือกเป็นทิศทางใหม่ของการมีส่วนร่วมพัฒนาคุณภาพเยาวชนระดับชุมชนท้องถิ่น ดังนั้น สกล.จึงเห็นว่าควรยกระดับงานพัฒนาการสร้างเสริมศักยภาพในการบริหารจัดการการศึกษาทางเลือกเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับการศึกษาภาคประชาชนให้สอดคล้องกัน
สมาคมฯ มีภารกิจงานในการเสริมเสร้างความเข้มแข็งของระบบการทำงานเครือข่ายระดับพื้นที่และระบบจัดการความรู้/การถอดบทเรียนเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ของเครือข่ายการศึกษาทางเลือกภาคประชาชนที่กล่าวมา มีการเสริมพลังการมีส่วนร่วมโดยการเชื่อมโยงศักยภาพของแต่ละเครือข่ายไปหนุนเสริมภารกิจซึ่งกันละกัน เพื่อจะเป็นตัวอย่างต้นแบบสำคัญของนวัตกรรมการเชื่อมร้อยการปฏิบัติงานการศึกษาที่ต้องการพัฒนาศักยภาพภายในระหว่างเครือข่ายร่วมกันและการเผยแพร่สู่สาธารณะ เพื่อที่จะทำให้สังคมไทย โดยเฉพาะ เด็ก/เยาวชน/ครอบครัว ชุมชน และองค์กรภาคสังคม ตลอดจนถึงผู้เกี่ยวข้องได้เข้าใจแนวความคิด แนวทาง และเข้าถึงรูปแบบการจัดการศึกษาทางเลือกที่หลากหลายแล้ว ข้อมูล/เนื้อหาและประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากการร่วมกันถอดบทเรียนจะเป็นข้อมูลที่สำคัญในการพัฒนาขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษาในเชิงนโยบายอีกด้วย
ในสถานการณ์ปัจจุบัน สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทยเห็นว่า ภายใต้นโยบายปฏิรูปประเทศไทยด้านการศึกษา การปฏิรูปการกระจายอำนาจไปให้ท้องถิ่นด้านการศึกษาให้เป็นรูปธรรมในนาม “สภาการศึกษาจังหวัด” ซึ่งสามารถปฏิบัติการได้ทันที โดยภาคีเครือข่ายจากภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดและภูมิภาคสามารถจัดสรรความร่วมมือให้เป็นกลไกที่มีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษา/เชื่อมโยงเครือข่ายการศึกษาทางเลือก/สมัชชาเครือข่ายปฏิรูปการศึกษา องค์กรทั้งในระดับท้องถิ่นจังหวัดกับสภาปฏิรูปแห่งชาติตลอดจนถึงองค์กรอื่นๆ ที่เข้าไปร่วมขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษาเชิงพื้นที่ รวมทั้งนอกจากจะปฏิบัติการทันทีในการศึกษาปัญหา/สำรวจความคิดความต้องการของผู้เรียนเพื่อกำหนดทิศทางและประเด็นในการปฏิรูปการศึกษาแล้ว การปฏิรูปการศึกษาเชิงพื้นที่ควรจะมีกลไกสำคัญในการปฏิบัติงานอย่างเป็นรูปธรรมของภาคีเครือข่ายทางการศึกษาทางเลือกในระดับจังหวัด ระดับภาค ระดับประเทศ เพื่อเป็นกลไกช่วยกันแก้ไขปัญหาและหนุนเสริมพัฒนาการศึกษาทางเลือกรวมทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้สังคมไทยได้เรียนรู้และเข้าถึงการศึกษาของภาคประชาสังคมทั้งประเด็นศูนย์การเรียนและบ้านเรียนในระดับพื้นที่ปฏิบัติงานไปพร้อมกันด้วย.