
สถานศึกษารูปแบบโรงเรียนในระบบที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สช./อปท./สพฐ.) มีแนวคิด แนวทาง ปรัชญาการศึกษา ที่แตกต่างจากการศึกษาตามค่านิยมกระแสหลัก
รูปแบบนี้ คือ โรงเรียนในระบบ จัดการศึกษาในระบบ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ก่อนอุดมศึกษา) ซึ่งจัดการศึกษาโดยมีแนวคิด แนวทาง ปรัชญาการศึกษา ตลอดจนจุดมุ่งหมายและกระบวนการที่ต่างไปจากโรงเรียนในระบบในค่านิยมกระแสหลัก
เครือข่ายการศึกษาทางเลือกในรูปแบบโรงเรียนทางเลือกนั้น มีทั้งโรงเรียนเอกชนทางเลือกซึ่งจัดโดยองค์กรเอกชนหรือนิติบุคคล ในสังกัดของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กระทรวงศึกษาธิการ และโรงเรียนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สังกัดกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย และโรงเรียนขนาดเล็กและขนาดกลางของรัฐ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา/มัธยมศึกษา (สพป./สพม.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ
ความแตกต่างหลักคือ โรงเรียนทางเลือกเป็นการจัดการศึกษาแบบก้าวหน้า (Progressive education) เป็นนวัตกรรมการศึกษาที่เพื่อข้ามให้พ้นข้อจำกัดของค่านิยมกระแสหลัก ศึกษานวัตกรรมที่หลากหลายในสากล ตัวอย่างเช่น มอนเตสซอรี่ วอลดอร์ฟ นีโอฮิวแมนนิส ซัมเมอร์ฮิลล์ จิตตศึกษา thinking school มาปรับใช้ผสมผสานให้เหมาะกับนักเรียนภายใต้บริบทหรือนิเวศการเรียนรู้ที่แตกต่างหลากหลายของสังคมต่าง ๆ ในประเทศไทย
ทั้งยังนิยมการพัฒนาหรือออกแบบต่อยอดขึ้นใหม่เพื่อให้สอดคล้องต่อบริบทเฉพาะต่าง ๆ มากที่สุด เช่น โรงเรียนวิถีพุทธ โรงเรียนสัมมาชีพ และเน้น Active learning ให้นักเรียน/ผู้เรียนลงมือทำหรือปฏิบัติจริง ได้ใช้กระบวนการคิดเกี่ยวกับสิ่งที่ได้ลงมือทำ หรือให้สอดคล้องกับนิเวศการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นสำคัญ
และบางแห่งได้จัดทำหลักสูตรอย่างบูรณาการตามเอกสารประกอบ “ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการปรับใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 สำหรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ” ที่กระทรวงศึกษาธิการได้ออกประกาศเมื่อปี พ.ศ. 2555 อันเป็นเอกสารลักษณะคู่มือที่ให้ทั้งสถานศึกษาที่มีจุดเน้นของตัวเอง หรือที่มีนักเรียนที่มีคุณลักษณะเป็นกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ ประยุกต์ใช้ได้ ทั้งสถานศึกษาที่จัดการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย
หมายเหตุผู้จากเขียน: เรียบเรียงจากงานวิจัยของสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย “โครงการศึกษาองค์ความรู้การศึกษาทางเลือกในสังคมไทย และแนวทางการขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” [สนับสนุนโดย สกสว.] ซึ่งในระหว่างนี้เว็บไซต์นี้อยู่ในระหว่างการจัดทำ ผู้สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าบนเว็บไซต์นี้ได้อีกครั้งเมื่อสำเนางานวิจัยนี้พร้อมเผยแพร่ให้เข้าถึงทางออนไลน์หรือการดาวน์โหลด ขอบคุณครับ [ชิ้นส่วนองค์ประกอบในภาพส่วนหัวบทความ จาก เว็บไซต์ kissclipart dot com]