เครือข่ายการศึกษาทางเลือก 6 รูปแบบ: รู้จักกับ “อุดมศึกษาทางเลือก”

อุดมศึกษานั้นคือระดับการศึกษาที่ต่อเนื่องจากการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการมุ่งศึกษาอย่างต่อเนื่องในแนวนิยาม “คุณวุฒิตามระดับ” มานั้น มิใช่ว่าเป็นเส้นทางแนวตรงว่าคนทุกคนในสังคมต้องเดินตามกันหรือบนทางเดียวกันนี้เสมอไป แต่ในทางปฏิบัติเป็นเจตจำนงส่วนบุคคลที่อาจดูประกอบเข้ากันเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมขึ้นมาในบางจังหวะมากกว่า ในแง่ของภาพค่านิยมที่จะศึกษาต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนวัยเรียน สู่ประถมศึกษา สู่มัธยมศึกษา ไปจนเข้าสู่ระดับอุดมศึกษา ฉะนั้นในแง่มุมที่ประชาชนมีทางเลือกทางการศึกษา ก็ดี หรือแม้แต่เราจะมองในแง่วิถีชีวิตก็ดี และอุดมศึกษานั้นเป็น “การศึกษาในระบบ” ตาม พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ก็จริง แต่เมื่อไม่ใช่การศึกษาภาคบังคับที่ถูกกล่าวถึงไว้ในรัฐธรรมนูญ อุดมศึกษาแบบดั้งเดิมเองก็นับเป็นทางเลือกทางหนึ่งของประชาชนอยู่เช่นกัน

ความต่อเนื่องในทางว่า “ลึกซึ้ง และซับซ้อนสูงขึ้น” กว่าระดับมัธยมศึกษาถัดกันมา (ดังที่เรียกว่า “อุดม” ซึ่งหมายถึง สูง นั้น) ในมิติของ “อุดมศึกษาทางเลือก” นั้น มีพัฒนาการต่อเนื่องมานับสิบปีเพื่อเปิดโลกให้กว้างมากยิ่งขึ้นเมื่อเทียบกับฟากฝั่งอนุรักษ์นิยมหรือกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาที่มีมาก่อนในประเทศไทยหรือสังคมไทย คือไม่ได้จำกัดทิศทางตามค่านิยมของสังคมไทยแต่เดิม ๆ ดังที่ผู้ใหญ่ในชุมชนเดียวกันหรือในครอบครัวสร้างอิทธิพลทางความคิดคาดตัดสินใจต่อเยาวชนในชุมชนหรือบุตรหลานให้มุ่งวนเวียนเพียงในสาขาที่ต่อเนื่องไปสู่กลุ่มอาชีพที่มีสภาวิชาชีพควบคุมหรือที่ให้มีใบอนุญาตทางวิชาชีพเฉพาะต่าง ๆ หรือบางสายอาชีพ/หน้าที่การงานที่มีสถานะว่าเป็นข้าราชการอีกต่อไป ทำให้อุดมศึกษาทางเลือกนี้กล่าวได้ว่า ขยายโลกทัศน์ให้กับปัญญาชนทั้งหลายได้มีทิศทางที่จะเจริญยิ่งขึ้นไปทางสติปัญญาหรือจิตวิญญาณอันเสรีที่จะแตกต่างหลากหลาย ในขณะที่เส้นทางตามอิทธิพลทางความคิดเชิงอนุรักษ์นิยมก็ยังคงได้ถูกรับรู้และผนวกเป็นทางเลือกไว้เสมอภาคกันอย่างสมบูรณ์แบบได้ด้วย

คือปัญญาจากอดีตก็ยังคงอยู่ ผนวกรวมเข้ากับปัญญาปัจจุบัน และจะก้าวขยายความอย่างร่วมกันไปสู่ปัญญาอนาคต โดยที่เชื่อมร้อยกับความแตกต่างหลากหลาย “ในชีวิตจริง ๆ” มากขึ้น ด้วยแนวคิด ปรัชญา วิธีการ ฯลฯ ที่ต่างจากอุดมศึกษาที่มีอยู่ และยังแตกต่างหลากหลายและพร้อมเสมอที่จะพัฒนาแนวทางใหม่ ๆ ขึ้น

ซึ่งไม่ใช่เพียงต่อเยาวชนหรือชุมชนในสังคมเมือง แต่อุดมศึกษาทางเลือกยังโอบอุ้มรับการส่งต่อองค์ความรู้ภูมิปัญญาของท้องถิ่น ชุมชน ชาติพันธุ์ ภูมิสังคม ภูมิวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลาย อันล้วนเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นประเทศชาติเสมอภาคกัน ให้มีฐานรากทางวิทยาการถูมิปัญญาที่มั่นคง สร้างสรรค์สภาพแวดล้อมหรือนิเวศที่จะได้บันทึก วิจัย พัฒนาต่อยอด ทุกความลึกซึ้ง ซับซ้อน ร่วมและรวบรวมเป็นคลังปัญญาของประเทศชาติและโลก ไม่เพียงแต่มุ่งหวังให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงในอัตราเร่งพหุคูณของโลกปัจจุบัน หรือในทางที่มุ่งไปสู่การประกอบอาชีพ เพราะการส่งเสริมอัตลักษณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ที่งดงามในความแตกต่างหลากหลายนั้น ก็ล้วนสำคัญต่อมุมพินิจในระดับ “อารยธรรมดาวเคราะห์” เช่นกัน ไม่เฉพาะเพียงแต่ในระดับอารยธรรมชนชาติ

โลกในภาวการณ์ต่าง ๆ ล้วนต้องการขุมพลังทางสติปัญญาที่สอดคล้องกับภาวการณ์นั้น เพื่อให้ภาวการณ์ที่อาจจะวิกฤตวงกว้างรุนแรงนั้นถูกแก้ไขไปได้ เราทั้งหลายในนาม “มนุษยชาติ” จากจุดเล็ก ๆ จุดใดจุดหนึ่งแต่ละจุด อาจมีองค์ความรู้อันทรงพลังนั้นอยู่ที่เป็นทางออกให้กับโลกจากภาวการณ์เช่นนั้นได้ การที่สถาบันสังคมไม่เพียงแต่เชื่อมร้อยภูมิปัญญาเข้ากับการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่ยังขยายความให้เจริญ “อุดมยิ่งขึ้น” ในมิติของอุดมศึกษา และอุดมศึกษาทางเลือกได้ อีกทั้งยังมีภาพของความร่วมมือต่าง ๆ ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศบนโอกาสและความเป็นไปได้ต่าง ๆ สามารถเกิดขึ้นได้อย่างไม่สิ้นสุด นับเป็นอะไรที่น่าตื่นเต้นและน่าติดตามอย่างยิ่ง

อุดมศึกษาทางเลือกนั้น เมื่อมองรวมกับอุดมศึกษาที่มีอยู่ สร้างสรรค์และส่งมอบซึ่งทางเลือกทางการศึกษาให้กับคนทั้งสังคมมากขึ้น ร้อยเอาความเป็นปัจจุบันเข้ามากระตุ้นให้ความเหนื่อยล้าในแบบอนุรักษ์นิยมนั้นค่อย ๆ จางไปและพลิกมาดำรงอยู่อย่างสง่างามเสมอกันโดยเชื่อมร้อยกับแนวทางใหม่ ๆ ทุกสังคมได้เคลื่อนไหวเพื่อตามกันให้เจอและตามกันให้ทัน ได้หายใจร่วมกัน มีชีวิตชีวาและเติบโตร่วมกันต่อไปในกาลเวลาได้

หมายเหตุผู้จากเขียน: เรียบเรียงจากงานวิจัยของสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย “โครงการศึกษาองค์ความรู้การศึกษาทางเลือกในสังคมไทย และแนวทางการขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” [สนับสนุนโดย สกสว.] ซึ่งในระหว่างนี้เว็บไซต์นี้อยู่ในระหว่างการจัดทำ ผู้สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าบนเว็บไซต์นี้ได้อีกครั้งเมื่อสำเนางานวิจัยนี้พร้อมเผยแพร่ให้เข้าถึงทางออนไลน์หรือการดาวน์โหลด ขอบคุณครับ [ชิ้นส่วนองค์ประกอบในภาพส่วนหัวบทความ จาก เว็บไซต์ kissclipart dot com]

Autodidact, Rocker, ศิลปินอิสระ (ศิลปินรุ่นน้องบางคนมองเป็นพ่อมดบ้างยมทูตบ้าง), แหล่งความรู้บุคคลสารพัดด้าน, หนึ่งใน homeschoolers รุ่นก่อนประวัติศาสตร์, ถนัดผสม disciplinarities, แอดมินร่วมกรุ๊ป HomeSchool Network (จิตอาสา), นักวิจัยอิสระด้านกฎหมายการศึกษาทางเลือกในประเทศภาคี UDHR และ ICESCR (จิตอาสา), กรรมการด้านกฎหมายและระเบียบ ศูนย์ประสานสิทธิการศึกษาบ้านเรียนและศูนย์การเรียนไทย (ศปส.) (จิตอาสา)