เครือข่ายการศึกษาทางเลือก 6 รูปแบบ: รู้จักกับ “ศูนย์การศึกษาบนฐานชุมชน/ครูภูมิปัญญา”

โดยทางประวัติศาสตร์เมื่อเทียบกับยุคที่มีโรงเรียนแบบรัฐบาลจัดขึ้นแล้ว รูปแบบนี้นับว่าเป็นการริเริ่มที่มีความเป็นธรรมชาติมากของชุมชน เริ่มต้นอย่างโดยอัธยาศัยและมีอิสระอย่างยิ่ง โดยมีมาก่อนที่ในมิติทางกฎหมายจะมีแนวคิดหรือกระทั่งประกาศใช้บังคับพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 หรือมองว่าก่อนหน้านั้นย้อนไปได้อีก คือก่อนแนวคิดลักษณะแผนการศึกษาทั้งหลายของภาครัฐก็ว่าได้ เพราะในแง่หนึ่งก็คือบริบทการศึกษาที่เกิดขึ้นได้โดยธรรมชาติ ในชุมชนทุกที่ ทุกกาลเวลา ตามครรลองธรรมชาติ เรียบง่าย พอ ๆ กับพ่อแม่ที่จะสอนลูกตนเองดังสิทธิเบื้องแรกเช่นในบริบทของโฮมสคูลตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ เพียงแต่นี่เป็นมาตราส่วนระดับชุมชน หรือกลุ่มวัฒนธรรม ที่เมื่อเราพูดกันในวันเวลายุคนี้ก็คือในแต่ละจังหวัด แต่ละภาค

บริบทการศึกษาที่เกิดขึ้นได้โดยธรรมชาติอย่างนี้ ตั้งแต่เมื่อมนุษย์มีวิวัฒนาการจนอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ชนเผ่า เผ่าพันธุ์ ผ่านกาลเวลามาแสนไกลก็ย่อมมีองค์ความรู้ในหลากหลายมิติที่ถ่ายทอดให้แก่กัน ทั้งในชุมชนเดี่ยว และระหว่างชุมชน เกิดขึ้นและดำเนินมาก่อนการปกครองแบบ “รัฐสมัยใหม่ (Modern State)” อย่างแน่นอนไม่ต้องสงสัย ฉะนั้นเราย่อมปล่อยปละให้รัฐสมัยใหม่ เข้าใจผิดหรือมองวิถีชีวิตทางการศึกษาเช่นนี้ผิดเพี้ยนไปนั้น ไม่ได้

ซึ่งแน่นอนว่าประเทศไทยในสถานภาพความเป็นประเทศภาคีของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ก็ดี หรือ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ก็ดี ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิในการพัฒนา ก็ดี และอื่น ๆ ความขัดแย้งของบุคลากรภาครัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการศึกษาหรือในโครงสร้างการศึกษาแห่งชาติที่ว่าด้วยการกระจาย สิทธิในการจัดการศึกษา” ให้กับทุกสถาบันสังคม ก็ควรจะยุติลง และตระหนักต่อบทบาทภาระหน้าที่ที่ว่าจะต้องส่งเสริมการจัดการศึกษาของสถาบันสังคมต่าง ๆ เช่นในบริบทที่เมื่อมีชุมชน หรือศูนย์การศึกษาบนฐานชุมชน หรือในระดับบุคคลที่เป็นครูภูมิปัญญา (ที่ภาครัฐหรือหน่วยงานท้องถิ่น ได้ยกย่องเชิดชูและรับรองความเป็นครูภูมิปัญญาให้กับปูชณียบุคคลของชุมชนนั้น ๆ ไว้) -ต้องการเชื่อมร้อยกิจวัตรนี้ไปเป็นศูนย์การเรียนตามสิทธิในมาตรา 12 ของพ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ก็ดี หรือแม้แต่การตั้งศูนย์การเรียนขึ้นใหม่ ก็ดี ก็ไม่ควรติดขัดที่จะต้องให้ดำเนินการได้ ในเมื่อถึงปัจจุบันนี้กฎกระทรวงที่ออกตามความมาตรา 12 ก็ได้มีใช้บังคับเป็นการรับรองเอาไว้แล้ว ในรูปแบบ “สิทธิ”

แต่ละชุมชนในยุคสมัยปัจจุบัน ใช่ว่าจะดำรงตนอยู่บนโลกที่มีเทคโนโลยีทางสารสนเทศนี้ ไปอย่างเป็นชุมชนที่ปิด การจัดการศึกษาจึงมีองค์ความรู้ และบุคคลจากภายนอกหรือระหว่างชุมชนเข้าไปร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เสมอ องค์ความรู้ที่กระจัดกระจายได้มีแนวปฏิบัติ การร่วมค้นคว้า ศึกษาวิจัยและพัฒนา ให้มีระบบระเบียบเป็นหลักการหลักฐานที่มั่นคงขึ้น และกับมิติของสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว ก็มีอีกบริบทที่เป็นการปรับใช้หลักสูตรแกนกลางฯ ให้เป็นหลักสูตรของศูนย์การเรียน เชื่อมร้อยเข้ากับความเปลี่ยนแปลงภายนอกหรือตามยุคสมัย ทั้งความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมภายในและระหว่างประเทศ ภาพที่เกิดขึ้นจริงจึงต่างจากความคิดคาดของบุคลากรภาคราชการ

กล่าวคือ ณ วันเวลาปัจจุบัน ชุมชนบางแห่งมีความพร้อมที่จะจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานมานานแล้ว ซึ่งบางแห่งก็คือจัดไปก่อนแล้วแม้จะต้องจัดไปโดยยังขาดการส่งเสริมจากรัฐก็ตาม เรื่องจริงกับความคิดคาดตามแนวคิดทฤษฎีหรือการอนุมานของบุคลากรภาครัฐนั้นต่างกันมาก ต่างกันชนิดที่บางจังหวะเป็นความเข้าใจผิด ๆ ของรัฐเกี่ยวกับการจะนิยาม “เด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา” เสียด้วยซ้ำไป อันดูจะมองออกมาจากกระบวนทัศน์ที่รัฐเป็นผู้กุมสิทธิในการจัดการศึกษาเอาไว้ฝ่ายเดียวแบบไม่กระจายสิทธิให้สถาบันสังคมอื่น อันเป็นมุมที่ไปคนละเรื่องกับพัฒนาการทางกฎหมายด้านการศึกษาของประเทศไทยที่มีใช้บังคับอยู่จริงมามากกว่ายี่สิบปี

เครือข่ายการศึกษาทางเลือกเราพึงย้ำและให้ตระหนักถึง ระลึกถึง ความจริงเอาไว้ด้วยกันตรงนี้อีกครั้ง ว่า รูปแบบ/บริบทนี้เป็นเสมือน “สิทธิเบื้องแรกของทุกชุมชน” คล้ายกันกับสิทธิเบื้องแรกของพ่อแม่ที่จะให้การศึกษาแก่ลูกในครัวเรือนของตน คือในสถานการณ์ที่เป็นจริงและซึ่งหน้านั้น ใช่ว่าควรจะปล่อยให้ใครไปเกิดทึกทักว่า ชุมชนใดไม่มีโรงเรียนของราชการไปตั้ง หรือเด็กไม่รับการศึกษาในโรงเรียน แสดงว่าไม่มีการศึกษา เพราะนั่นย่อมผิดจากสิ่งที่เป็นจริงอยู่โดยธรรมชาติเสมอนั่นเอง พลวัฒนี้จึงเป็นเหมือน “สิทธิตามธรรมชาติ” ของมนุษย์ทุกหมู่เหล่า พึงต้องได้รับการมองเห็นตามหน้าที่ของรัฐสมัยใหม่ เพื่อที่จะต้องส่งเสริม ด้วยว่ามนุษย์ทุกคนโดยปัจเจก ก็ดี หรือชุมชนทุกแห่ง ก็ดี พึงจะต้องมี “สิทธิในการพัฒนา” เพื่อที่ในปฐมภูมิแล้ว ชุมชนและบุคคลมีสิทธิ์ที่จะพัฒนาในเงื่อนไขแวดล้อมของตน ความมุ่งหมายของ “การพัฒนาที่ยั่งยื่น” จึงจะเป็นไปได้ในทุกพิกัดที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ไม่ควรมีข้อแม้ใดที่แสดงตนเป็นอุปสรรคของการพัฒนาที่ยั่งยืน

ชุมชนมีภูมิปัญญาของตนที่สืบสานส่งต่อกันมา การถ่ายทอดย่อมต้องเกิดขึ้นในพื้นที่จริงได้ทุกวินาที นี่คือความจริงที่ไม่มีแนวคิดใดจะหักล้างลงได้ ชุมชนที่มีครูภูมิปัญญา มีคุรุผู้แก่กล้า อุดมไปด้วยปูชณียบุคคลเป็นที่เคารพศรัทธาเลื่อมใส สมาชิกของชุมชนย่อมได้รับในสิ่งดี ๆ อย่างแน่นอน

เรื่องใดที่เป็นเรื่องดี ไม่ควรมีอุปสรรค ทั่วประเทศ เพราะการได้รับความร่วมมือส่งเสริมจากภาครัฐอย่างเหมาะสม ประเทศชาติก็ย่อมได้รับเอาคุณค่าของชุมชนต่าง ๆ ไปใช้ในการบรรลุเป้าหมายหรือปัญหาอุปสรรคทั้งปวงได้เช่นกัน

หมายเหตุผู้จากเขียน: เรียบเรียงจากงานวิจัยของสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย “โครงการศึกษาองค์ความรู้การศึกษาทางเลือกในสังคมไทย และแนวทางการขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” [สนับสนุนโดย สกสว.] ซึ่งในระหว่างนี้เว็บไซต์นี้อยู่ในระหว่างการจัดทำ ผู้สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าบนเว็บไซต์นี้ได้อีกครั้งเมื่อสำเนางานวิจัยนี้พร้อมเผยแพร่ให้เข้าถึงทางออนไลน์หรือการดาวน์โหลด ขอบคุณครับ [ชิ้นส่วนองค์ประกอบในภาพส่วนหัวบทความ จาก เว็บไซต์ kissclipart dot com]

Autodidact, Rocker, ศิลปินอิสระ (ศิลปินรุ่นน้องบางคนมองเป็นพ่อมดบ้างยมทูตบ้าง), แหล่งความรู้บุคคลสารพัดด้าน, หนึ่งใน homeschoolers รุ่นก่อนประวัติศาสตร์, ถนัดผสม disciplinarities, แอดมินร่วมกรุ๊ป HomeSchool Network (จิตอาสา), นักวิจัยอิสระด้านกฎหมายการศึกษาทางเลือกในประเทศภาคี UDHR และ ICESCR (จิตอาสา), กรรมการด้านกฎหมายและระเบียบ ศูนย์ประสานสิทธิการศึกษาบ้านเรียนและศูนย์การเรียนไทย (ศปส.) (จิตอาสา)