เครือข่ายการศึกษาทางเลือก 6 รูปแบบ: รู้จักกับ “ศูนย์การเรียนของสถาบันสังคม (ตามมาตรา 12)”

สถานศึกษาในรูปแบบศูนย์การเรียนที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน สถาบันสังคมเช่น บุคคล องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการณ์ ดำเนินงานโดยกฎหมายเฉพาะซึ่งว่าด้วยสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีแนวคิด แนวทาง ปรัชญาการศึกษา ที่แตกต่างจากค่านิยมกระแสหลักที่จัดในรูปแบบโรงเรียน เพิ่มทางเลือกให้กับสังคมไทยด้วยขอบเขตที่ไม่สิ้นสุดไปตามพลวัฒน์ทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของแต่ละสถาบันสังคม

ประวัติศาสตร์โดยคร่าวของการศึกษาทางเลือกในรูปแบบนี้ เต็มไปด้วยรายละเอียดที่แสดงถึง “เรื่องจริง สภาพจริง คนจริง ของจริง อันมีพลวัฒน์สูงและหลากหลายอย่างมาก” ด้วยว่าเมื่อเราจะต้องอ้างอิงถึง “กฎกระทรวงที่ออกตามความมาตรา 12” ของพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ  พ.ศ. 2542 การเล่าเรื่องจริงนี้ ณ ปัจจุบันก็จะประกอบไปด้วยหกสถาบันสังคม คือ

  1. กฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว พ.ศ. 2547
  2. กฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิของสถานประกอบการในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2547
  3. กฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยสถาบันพระพุทธศาสนา พ.ศ. 2548
  4. กฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิของบุคคลในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียน พ.ศ. 2554
  5. กฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิขององค์กรวิชาชีพในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียน พ.ศ. 2554
  6. กฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิขององค์กรชุมชนและองค์กรเอกชนในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียน พ.ศ. 2555

เรื่องจริง สภาพจริง คนจริง ของจริง นั้น เราทั้งสังคมต้องยอมรับว่า ปัจจุบันเรากำลังเผชิญความเปลี่ยนแปลงของโลกที่รวดเร็วในระดับ “พหุคูณ” และนี่ทำให้การศึกษา การวิจัยและพัฒนา “นวัตกรรม” ต่าง ๆ ของประเทศไทยนั้น เกิดคำถามกลับมาที่ภาคการศึกษาของประเทศอยู่ในทุกเมื่อเชื่อวัน

การศึกษาในค่านิยมกระแสหลักนั้น มีความไม่พอดีกับหลายตัวคนเกิดขึ้นมากมายมาตลอด ซึ่งอันที่จริงเกิดจากการนำหลักสูตรแกนกลางฯ มาปฏิบัติคลาดเคลื่อนไปจากที่กฎหมายกำหนด คือโรงเรียนส่วนหนึ่งแทบไม่ได้ทำหลักสูตรสถานศึกษาที่จะต้องปรับรายละเอียดเพื่อให้ได้แนวทางที่เหมาะสมกับบริบทแวดล้อมหรืออย่างน้อยก็ต่อชุมชนที่โรงเรียนนั้นตั้งอยู่เลย และโดยว่าเป็นความเคยชินที่ต่อเนื่องมายาวนานหลายสิบปีที่เชื่อกันว่าหลักสูตรจะต้องตายตัวและเหมือนกันในทุกโรงเรียนไปทั้งประเทศ ซึ่งสวนทางกับข้อเท็จจริงตามที่กำหนดไว้และใช้บังคับเป็นบทบัญญัติใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และพ.ร.บ. การศึกษาภาคบังคับ พ.ศ. 2545 ที่ทั้งก็ได้มี “เอกสารประกอบ” ตามมาอีกหลายฉบับ ทั้งการให้แนวปฏิบัติและอื่น ๆ

สถาบันสังคมต่าง ๆ (social institutions) ที่นอกเหนือจากสถาบันสังคมที่เรียกว่ารัฐ เอกชนในกฎหมายโรงเรียนเอกชน และองค์กรปกครองท้องถิ่น [ซึ่งสำหรับสถาบันครอบครัวนั้น สามารถอ่านโดยละเอียดได้จาก “เครือข่ายการศึกษาทางเลือก 6 รูปแบบ: รู้จักกับ “บ้านเรียน (Home School)”” ครับ] ถ้าหากว่าเราลองนึกยกตัวอย่างกันถึง “สถานประกอบการ” อันมีความหลากหลายไปตามประเภทของอุตสาหกรรมในเศรษฐกิจหรือตลาดโลกอย่างมหาศาลนั้น กลุ่มนี้มีองค์ความรู้มากมาย ทั้งความรู้พื้นฐานดั้งเดิมตามธรรมชาติของงานนั้น และดอกผลหรือทรัพย์สินทางปัญญาต่าง ๆ เป็นองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่เกดขึ้นทุกวินาที อันได้มาโดยธรรมชาติเช่นกันจากกระบวนงานการวิจัยและพัฒนา ภายในกิจการ ธุรกิจ หรือสถานประกอบการแต่ละแห่ง, ล้วนแสดงความต้องการแรงงานหรือบุคลากรที่ไม่ใช่เพียงมีความรู้ทักษะอย่างที่โรงเรียนในระบบมักจัดการเรียนการสอนมา

ซึ่งภายใต้กฎหมายหลัก ๆ ฉบับเดียวกันกับที่สามสถาบันสังคมดั้งเดิมที่มีสิทธิในการจัดการศึกษาได้ใช้ทำโรงเรียนมาแบบนั้น สถาบันสังคมอื่น ๆ เหล่านี้ด้วยความเป็นกลุ่มเป้าหมายเฉพาะของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ก็ได้ใช้หลักสูตรแกนกลางฯ นำเอาองค์ความรู้ของตนมาใช้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานตามแนวทางที่ตนต้องการได้ในที่สุด ในรูปแบบ “ศูนย์การเรียน” [รูปแบบหนึ่งของสถานศึกษาที่กำหนดให้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ ตามมาตรา 18 (3) พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 (ซึ่ง “โรงเรียน” คือ มาตรา 18 (2)]

การที่ปัจจุบันสถาบันสังคมต่าง ๆ สามารถจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สามัญศึกษา, ที่สามารถประยุกต์ได้อย่างมากมาย) ในรูปแบบ “ศูนย์การเรียน” ได้ ก็ได้เป็นประตูบานใหม่ ๆ สำหรับประชาชน ที่ไม่ใช่แค่กับเด็กอายุตามเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับที่ไม่ได้เข้าโรงเรียนมาก่อน แต่กับเด็กนักเรียนของระบบโรงเรียนเองก็สามารถที่จะเลือกสรรโอกาสในการพัฒนาศักยภาพความถนัดของตนให้เชี่ยวชาญยิ่งขึ้นกับศูนย์การเรียนต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การเรียนที่จัดโดยบุคคลผู้รู้ผู้ทรงคุณวุฒิต่าง ๆ หรือสถานประกอบการที่มีฝีมือชื่อเสียงในระดับสากลเองเมื่อมีองค์ความรู้ในสิทธินี้ก็สามารถริเริ่มพัฒนาหลักสูตร/แผนการศึกษาเพื่อสร้างบุคลากรที่ “ตรงสายที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” ของตนขึ้นมาได้เช่นกันไม่ว่าจะอยู่ในอุตสาหกรรมใดของโลก

ตลอดจนองค์กรวิชาชีพ ชุมชน หรือสถาบันสังคมอื่น ๆ ซึ่งปั้นความเชี่ยวชาญได้อย่างไม่มีขีดจำกัด เพิ่มทางเลือกให้กับภาคการศึกษาที่เชื่อมต่อกับตลาดแรงงาน เพิ่มทางเลือกให้กับประชาชน ที่ไม่ต้องแบกรับค่านิยมชนชั้นทางสังคมหรือความเหลื่อมล้ำจากการถือทับถมด้วยระดับวุฒิการศึกษา เพราะนี่คือโอกาสทางปัญญาและการพัฒนาเศรษฐกิจในทุกมิติ ที่คนเรานั้นมีความรู้ความสามารถและทักษะที่สูงได้โดยไม่จำเป็นต้องอ้างใช้ระดับวุฒิที่สูงสุด ๆ เสียก่อน [หรือปรากฏการณ์ “เฟ้อทางปริญญาบัตร” ทั้งที่ในบางประเทศชั้นนำแถบยุโรปพึ่งพาบุคลากรในวุฒิต่ำกว่าปริญญา อยู่อย่างมาก หรือที่นับกันว่าหลักสูตรเขาดี จนคนไม่ต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายเรียนให้ได้วุฒิสูง ๆ ก็มีความรู้ความสามารถมากกว่าระดับเดียวกันในหลักสูตรโรงเรียนไทยตามกระแสหลัก (เพราะในยุโรปหรืออเมริกานั้น ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษานับว่าสูงมากกว่าในประเทศไทยหลายเท่า โดยเฉพาะในอเมริกาก็เกิดเป็นปัญหาหนี้การศึกษาราคาสูงมาก มาหลายสิบปี ซึ่งมีคนจำใจเทตัวเองออกจากระบบการศึกษาเพราะจ่ายไม่ไหว และกลายเป็นกระแสริเริ่มทำกิจการชนิดใหม่ ๆ ที่หลักสูตรการศึกษาดั้งเดิมไม่เคยมี เป็นตลาดนวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญากลุ่มต่าง ๆ ที่ส่งคลื่นลูกใหญ่หรืออิทธิพลทางความคิดไปทั่วโลกอยู่เสมอ)]

ซึ่งสำหรับสถานประกอบการในประเทศไทยนั้น นี่คืออีกทางเลือกที่จะจัดการศึกษาโดยเป็นวุฒิแบบสามัญศึกษา ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นอกเหนือจากแนวทางที่มีการจัดร่วมกับโรงเรียนอาชีวศึกษาในโครงการทวิภาคี และโครงการทวิศึกษาที่จัดร่วมกับโรงเรียนสามัญศึกษา และศูนย์การเรียนที่ได้รับความร่วมมือจากสำนักงานอาชีวศึกษา หรือแม้แต่การส่งเสริมบุคลากรให้ศึกษานอกระบบกับทางศูนย์กศน. ที่อาจได้เพียงเรื่องระดับของวุฒิการศึกษา แต่ก็ยังต้องจัดการศึกษาตามอัธยาศัยเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เองผ่านกระบวนการฝึกงานหรือพี่เลี้ยงภายในสถานประกอบการของตนเอง, พัฒนาการทางกฎหมายนี้ จะทำให้เห็นความเป็นไปได้ขยายขอบเขตออกไปอีกมาก และเพิ่มโอกาสและทางเลือกทางการศึกษาให้กับประชาชนมากขึ้น รวมทั้งความต้องการศึกษาต่อเนื่องไปในระดับอุดมศึกษาของแต่ละบุคคลยังคงเป็นไปได้ตามปกติ โดยที่จะมีโอกาสเรื่องความเชี่ยวชาญบางอย่างมากขึ้นในตน แหลม คม แม่นยำยิ่งขึ้น ก่อนที่จะเข้าสู่ระดับอุดมศึกษาตามภาควิชาที่สอดคล้องขึ้นไปอีก

และเป็นทางเลือกกับสถานประกอบการที่เพิ่มขึ้นในอีกแง่มุม คือนอกเหนือจากแนวทางการจัดตั้งโรงเรียนนอกระบบในกฎหมายโรงเรียนเอกชนซึ่งเป็นระบบ “ประกาศนียบัตร” [พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550, โรงเรียนนอกระบบมีเจ็ดประเภท ตาม “ประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เรื่อง การกําหนดประเภทและลักษณะของโรงเรียน การจัดการเรียนการสอน และหลักสูตรของโรงเรียนนอกระบบ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558]

หมายเหตุผู้จากเขียน: เรียบเรียงจากงานวิจัยของสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย “โครงการศึกษาองค์ความรู้การศึกษาทางเลือกในสังคมไทย และแนวทางการขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” [สนับสนุนโดย สกสว.] ซึ่งในระหว่างนี้เว็บไซต์นี้อยู่ในระหว่างการจัดทำ ผู้สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าบนเว็บไซต์นี้ได้อีกครั้งเมื่อสำเนางานวิจัยนี้พร้อมเผยแพร่ให้เข้าถึงทางออนไลน์หรือการดาวน์โหลด ขอบคุณครับ [ชิ้นส่วนองค์ประกอบในภาพส่วนหัวบทความ จาก เว็บไซต์ kissclipart dot com]

Autodidact, Rocker, ศิลปินอิสระ (ศิลปินรุ่นน้องบางคนมองเป็นพ่อมดบ้างยมทูตบ้าง), แหล่งความรู้บุคคลสารพัดด้าน, หนึ่งใน homeschoolers รุ่นก่อนประวัติศาสตร์, ถนัดผสม disciplinarities, แอดมินร่วมกรุ๊ป HomeSchool Network (จิตอาสา), นักวิจัยอิสระด้านกฎหมายการศึกษาทางเลือกในประเทศภาคี UDHR และ ICESCR (จิตอาสา), กรรมการด้านกฎหมายและระเบียบ ศูนย์ประสานสิทธิการศึกษาบ้านเรียนและศูนย์การเรียนไทย (ศปส.) (จิตอาสา)