
การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว ผู้ปกครองดำเนินงานโดยกฎหมายเฉพาะซึ่งว่าด้วยสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้กับเด็กในความปกครองของตนโดยจัดเป็นรายบุคคล ดำเนินการวัดและประเมินผลร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาตามภูมิลำเนา เป็นรูปแบบการศึกษาที่คำนึงถึงสิทธิตั้งต้นโดยโอกาสของมนุษยชาติในสถานะครอบครัวหรือการให้กำเนิด หรือ “สิทธิเบื้องแรก” ที่ได้รับการรับรองไว้โดยปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ครอบครัวมีทางเลือกด้วยการใช้สิทธิในการจัดการศึกษา นอกเหนือจากการนำเด็กเข้าสู่สถานศึกษาที่จัดการศึกษาโดยรัฐ/เอกชนตามกฎหมายโรงเรียนเอกชน/องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
เด็กผู้เรียน 1 คน (หรือปัจเจกชน) ในฐานะปวงชนชาวไทยที่มีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญอย่างหนึ่งคือ มีหน้าที่เข้ารับการศึกษาอบรมในการศึกษาภาคบังคับนั้น [ฉบับปัจจุบันคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560] ผู้ปกครองสามารถดูแลให้เด็กของตนบรรลุหน้าที่นี้ผ่านการใช้สิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัวได้
สิทธินี้ของผู้ปกครองนับเป็นสิทธิเฉพาะเรื่องอย่างหนึ่ง ดำเนินการผ่าน “กฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว พ.ศ. 2547” [ออกตามความมาตรา 12 ใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542] ซึ่งนับเป็นทางเลือกโดยกฎหมาย ว่าจะใช้สิทธินี้เพื่อจัดการศึกษาเองโดยครอบครัว หรือจะส่งเด็กเข้าสู่สถานศึกษารูปแบบอื่น ๆ ที่จัดการศึกษาภาคบังคับอยู่เช่นกัน [การศึกษาภาคบังคับ หมายถึง ชั้นปีที่หนึ่งถึงปีที่เก้าของการศึกษาขั้นพื้นฐานสิบสองปีก่อนระดับอุดมศึกษา]
ซึ่งสรุปความต่างระหว่างสองบริบทที่จะเป็นทางเลือกสำหรับผู้ปกครอง ก็คือ
- เลือกจัดการศึกษาเอง (มิติของ “สิทธิ”, มาตรา 12)
- (หรือ) เลือกส่งเด็กเข้าสถานศึกษาอื่น (มิติของ “หน้าที่”, มาตรา 11)
[ทั้งสองมาตรานี้อยู่ใน “หมวด 2 สิทธิและหน้าที่, พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542”]
ซึ่งหมายความว่า ครอบครัวใดที่เลือกจะจัดการศึกษาเองตามสิทธิในกฎกระทรวงนี้ มีโอกาสตามความพร้อมที่จะจัดการศึกษาได้ ตั้งแต่โดยปฐมภูมิคือในช่วงการศึกษาภาคบังคับ (ประถมการศึกษาปีที่ 1 ถึง มัธยมการศึกษาปีที่ 3) และยังครอบคลุมถึงระดับก่อนประถมศึกษา (ปฐมวัยหรือก่อนวัยเรียน) และระดับก่อนอุดมศึกษาช่วงที่เหลือด้วย (มัธยมศึกษาตอนปลาย, สามัญศึกษา) เพราะคือระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งสิ้น, และโดยที่ยังเลือกได้ตามจังหวะและความพร้อมในแต่ละช่วงชีวิต ที่จะจัดการศึกษาเอง หรือเข้าสถานศึกษาอื่น การจัดการศึกษาโดยครอบครัวจึงเป็นเช่น “สิทธิเบื้องแรกของผู้ปกครอง” ดังที่มีรับรองไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน พ.ศ. 2491 ที่ครอบครัวแห่งมนุษยชาติย่อมพึ่งพาตนเองได้เสมอเมื่อต้องการ
พัฒนาการทางกฎหมายนี้ในประเทศไทยนับเป็นความก้าวหน้าอย่างยิ่ง และยังเปิดโอกาสทางนวัตกรรมการศึกษาอย่างมากมายเช่นที่เป็นจริงในปัจจุบัน ที่มีจำนวนครอบครัวนับพันทั่วประเทศไทยกำลังจัดการศึกษาอยู่
นวัตกรรมการศึกษาที่เพิ่มพูนเป็นฐานสมบัติหรือทรัพย์สินทางปัญญาของชาตินั้นเกิดขึ้นได้ด้วยความเป็นหนึ่งใน “กลุ่มเป้าหมายเฉพาะตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551” [หน้า 24 หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551, และ ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการปรับใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 สำหรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ (ประกาศเมื่อ 25 ก.พ. 2555)] อันทำให้ผู้เรียนแต่ละคนและโดยบริบทของครอบครัวนั้น ๆ มีเสรีภาพทางวิชาการที่จะพัฒนาหลักสูตรของตนขึ้นมาได้
ความเป็นกลุ่มเป้าหมายเฉพาะนั้น (ซึ่งไม่ใช่เฉพาะรูปแบบการจัดการศึกษาโดยครอบครัว) นอกจากจะเป็นการศึกษาทางเลือกที่ทำเพื่อข้ามพ้นความติดขัดต่าง ๆ ของการศึกษาในค่านิยมกระแสหลักแล้ว สำหรับผู้เรียนยังเป็นเรื่องของสุขภาวะทางการศึกษาที่ดีอีกด้วย คือลดภาระของค่านิยมกระแสหลักที่ทำให้ต้องเรียนเยอะ เรียนไม่ตรงกับความถนัดเรียนตามธรรมชาติเฉพาะบุคคล เรียนซ้ำซ้อน เรียนเกินและไม่สอดคล้องตามกำลังสุขภาพ เรียนโดยขาดโอกาสประยุกต์ตามสิทธิในการพัฒนา ก็ได้มีโอกาสที่จะ Flipped หรือกลับทางแล้วได้รับทั้งหมดกลายเป็นปัญญาจากที่เคยต้องแบกรับเป็นภาระ เป็นความตึงเครียด/กดดัน/บีบบังคับ/ตัดสินตีตรา/ขีดฆ่าทอดทิ้งจากทางสังคมและจากบางโรงเรียนในกระแสหลัก ภาระที่มีหลายคนเสียโอกาสหรือกระทั่งเสียชีวิตไปก็มากมาย
สิทธินี้มีอยู่สำหรับทุกครอบครัวไทย ไม่ว่าท่านจะใช้หรือไม่ก็จะมีอยู่เสมอให้เป็นทางเลือกเมื่อวันหนึ่งท่านเกิดต้องการ เช่นกันกับสิทธิโดยธรรมชาติที่คนบ้าน ๆ จะ “ปฐมพยาบาล” ตนเองหรือคนในบ้านได้เองก่อนอย่างทันท่วงที ใช่ว่าจะต้องรอจนสายเกินไปในบางการเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุด้วยเชื่อกันไปว่าต้องเป็นหมอเท่านั้นถึงจะทำอะไร ๆ ได้, การอำนวยด้านการศึกษาสำหรับเด็กในครอบครัวนี้ มาตรา 53 วรรคสี่ จึงกำหนดว่าท่านไม่ต้องเป็นบุคลากรวิชาชีพก็จัดการศึกษาให้บุตรได้นั่นเอง [พ.รบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งความตามมาตรา 53 วรรคสี่กำหนดครอบคลุมถึงรูปแบบสถานศึกษาขั้นพื้นฐานตามมาตรา 18 (3) ของทุกสถาบันสังคม]
ปัจจุบันผู้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว หรือ “บ้านเรียน (Home School)” ในทุกจังหวัด ทุกภาค แม้กระจายตัวกันไปตามภูมิลำเนา แต่ก็ติดต่อสื่อสาร แลกเปลี่ยนองค์ความรู้กันเป็นเครือข่ายการศึกษาทางเลือกขนาดใหญ่เครือข่ายหนึ่งของภาคประชาสังคมหนึ่ง หรือสถาบันสังคมหนึ่งคือสถาบันครอบครัว และในแต่ละเครือข่ายย่อย ๆ หรือมองเป็นกลุ่มพ่อแม่ผู้/ปกครองก็ดี รวมทั้งเด็กผู้เรียนในแต่ละช่วงอายุ ก็มักมีการนัดหมายจัดกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน อยู่อย่างสม่ำเสมอ
ความแตกต่างหลากหลายที่ในกรณีตัวอย่างต่าง ๆ ที่ให้ปัญญาเราได้ว่าทำไมจึงต้องพัฒนาแผนการศึกษาเป็นรายบุคคล ก็เช่น นักกีฬาอาชีพที่ต้องเดินทางแข่งขันตามทัวร์นาเมนท์ต่าง ๆ ทั่วโลก ศิลปิน เด็กที่มีแววอัจฉริยะ เด็กพิเศษที่ต้องการกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับสติปัญญาและร่างกายของตัวเองในการพัฒนา เด็กที่มีความสามารถพิเศษ บ้านเรียนจึงเป็นพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษาเช่นกันและมีพลวัฒสูง เกิดการทดลองมากมายและทำให้ได้แผนการศึกษาที่หลากหลายและมีมากในทางจำนวนในระดับทวีคูณ และพหุคูณ ด้วยธรรมชาติในการจัดที่ต่างออกไปจากรูปแบบโรงเรียนที่ต้องจัดการศึกษาให้เด็กจำนวนมากเรียนพร้อมกัน และรวมทั้งการที่บุคลากรด้านการสอนของบ้านเรียนนั้นสามารถจะเป็นใครก็ได้ที่มีองค์ความรู้และสามารถสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ได้ พ่อแม่ ญาติในครอบครัว ผู้มีความรู้ หรือมีความสามารถเชี่ยวชาญในอาชีพต่าง ๆ ผู้รู้ในชุมชน ปูชณียบุคคลหรือครูภูมิปัญญาในท้องถิ่น และที่สำคัญคือผู้เรียนก็สามารถจัดการเรียนรู้ให้ตัวเองได้
และความไม่ต้องเรียนซ้ำซ้อนนี้ ได้รับคุณวุฒิทางการศึกษาตามปกติสำหรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ วัดและประเมินผลร่วมกันปีละครั้งระหว่างผู้จัดการศึกษาโดยครอบครัวและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เสมอภาคกันกับวุฒิการศึกษาตามปกติของโรงเรียนในระบบ ใช้เพื่อการศึกษาต่อเนื่องสู่ระดับอุดมศึกษาได้ตามความต้องการ
หมายเหตุผู้จากเขียน: เรียบเรียงจากงานวิจัยของสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย “โครงการศึกษาองค์ความรู้การศึกษาทางเลือกในสังคมไทย และแนวทางการขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” [สนับสนุนโดย สกสว.] ซึ่งในระหว่างนี้เว็บไซต์นี้อยู่ในระหว่างการจัดทำ ผู้สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าบนเว็บไซต์นี้ได้อีกครั้งเมื่อสำเนางานวิจัยนี้พร้อมเผยแพร่ให้เข้าถึงทางออนไลน์หรือการดาวน์โหลด ขอบคุณครับ [ชิ้นส่วนองค์ประกอบในภาพส่วนหัวบทความ จาก เว็บไซต์ kissclipart dot com]