
เป็นรูปแบบที่เปิดกว้างในทาง “ขยายขอบเขต” การสื่อสารความรู้และการศึกษาในระดับสาธารณะ ผ่านการใช้ “สื่อ” ทุกประเภท ไม่เฉพาะสื่อในความหมายว่า media แต่หมายถึงการแสดง (perform) เช่น ละครเวที ละครหุ่น งานเขียนทางวรรณศิลป์ หรืองานเขียนทั่วไป งานบันทึกเสียงบันทึกภาพต่าง ๆ การจัดนิทรรศการ เวทีเสวนา หรือการสื่อสารในสื่อสารสนเทศ ฯลฯ ซึ่งนำเสนอนวัตกรรมการเรียนรู้ใหม่ ๆ และเนื้อหาที่กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ของสาธารณชน ให้ไม่จำกัดกรอบความคิดอ่านเล็งเห็นต่าง ๆ ในเชิงการศึกษานั้นผูกไว้แต่กับวิถีชีวิตในยุคก่อนหน้าที่คุ้นเคยกับรั้วสถาบันการศึกษา
มีทั้งบุคคลทั่วไป องค์กรเอกชน ผู้คนจากหลากหลายอาชีพ เพศ และช่วงวัย หรือกลุ่มหรือกิจกรรมในประเทศที่ได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเช่นสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หรือสำนักงานอื่น ๆ การทำกิจกรรมเสริมเข้าไปในโรงเรียน หรือสถานศึกษารูปแบบต่าง ๆ ตลอดจนการสื่อสารที่ไม่จำกัดกลุ่มอายุว่าจะต้องเป็นนักเรียนหรือนักศึกษาเสมอไป ไม่ใช่เฉพาะในกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้รับสาร แต่หมายถึงในกลุ่มของผู้ทำกิจกรรมสื่อเหล่านี้ด้วย ซึ่งมีทั้งในประเทศและนานาชาติหรือระหว่างประเทศ
จึงเป็นความเคลื่อนไหว (movement) ที่เกิดทั้งในออนไลน์ และ กิจกรรมภายนอก เมื่อ “พื้นที่ทุกแห่งคือแหล่งเรียนรู้” ได้ทั้งสิ้น ในยุคสมัยนี้ที่นิเวศหรือภูมิทัศน์การเรียนรู้ของประชาชนหรือสาธารณชนนั้นต่างจากยุคก่อนหน้า และดูจะเหมาะสมต่อปัจเจกบุคคลที่จะตัด ลดทอน หรือเพิ่ม ปลูกความรู้ความสามารถหรือทักษะที่ส่งเสริมตามธรรมชาติของตน หรือบูรณาการผสมผสาน หลาย ๆ องค์ความรู้ วิทยาการ แนวความคิด ปรัชญา แนวปฏิบัติ ฯลฯ เข้าด้วยกันเป็นสิ่งใหม่
ความหมายของคำว่า “นวัตกรรม” นั้นคือ “สิ่งใหม่” ซึ่งโดยทั่วไปนั้นยากที่จะเกิดกับการศึกษาในระบบ (Formal education) รูปแบบนี้จึงมีบริบทของการศึกษาตามอัธยาศัย (Informal education) อยู่เป็นพื้นฐาน การศึกษาเรียนรู้นั้นเกิดได้อย่างอิสระในทุกแห่ง ซึ่งสำหรับโลกความเป็นจริงหรือสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม “รอบ ๆ ตัวทุกคน” นั้น ก็คือวิถีชีวิตที่แต่ละคนมีกิจวัตรกับมันหรือใช้ชีวิตอยู่ในทุกเมื่อเชื่อวัน ด้วยความต้องการหรือเจตจำนงที่แตกต่างกันไป
สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทยกับเว็บไซต์แห่งนี้เอง และตลอดจนช่องทางต่าง ๆ ในภาคออนไลน์เช่นในโซเชียลเน็ตเวิร์ก ก็เป็นเครือข่ายหนึ่งและพิกัดหนึ่งที่มีอยู่เพื่อนำเสนอนวัตกรรมการศึกษาทางเลือกรูปแบบต่าง ๆ และเป็นสื่อเพื่อการเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคมไทยเช่นกัน
หมายเหตุผู้จากเขียน: เรียบเรียงจากงานวิจัยของสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย “โครงการศึกษาองค์ความรู้การศึกษาทางเลือกในสังคมไทย และแนวทางการขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” [สนับสนุนโดย สกสว.] ซึ่งในระหว่างนี้เว็บไซต์นี้อยู่ในระหว่างการจัดทำ ผู้สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าบนเว็บไซต์นี้ได้อีกครั้งเมื่อสำเนางานวิจัยนี้พร้อมเผยแพร่ให้เข้าถึงทางออนไลน์หรือการดาวน์โหลด ขอบคุณครับ [ชิ้นส่วนองค์ประกอบในภาพส่วนหัวบทความ จาก เว็บไซต์ kissclipart dot com]